เช็คด่วน! สัญญาณข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมและสึกหรอของผิวกระดูกอ่อนข้อเข่า ซึ่งผิวกระดูกอ่อนนี้ ในภาวะปกติทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อที่เรียบลื่น ไม่ติดขัด และทำหน้าที่เป็นส่วนรองรับน้ำหนักของร่างกาย
อาการข้อเข่าเสื่อมจะส่งผลให้เกิดการอักเสบของกระดูกอ่อนผิวข้อและเยื่อหุ้มข้อ ทำให้ความสามารถในการสร้างน้ำไขข้อลดลง หรือสูญเสียคุณสมบัติของน้ำไขข้อไป ส่งผลย้อนกลับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และอาจหายไปทั้งหมด
ในผู้ป่วยที่ข้อเสื่อมขั้นรุนแรง ผิวข้อจะเกิดความขรุขระไม่เรียบลื่น มีกระดูกงอกเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ข้อ เกิดการโก่งงอเสียความสมดุลของข้อเข่ามากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นมากขึ้น
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
สามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักตามลักษณะการเกิดคือ
1.สาเหตุจากความเสื่อมแบบปฐมภูมิ (primary knee osteoarthritis) : หรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย เช่น- อายุที่เพิ่มมากขึ้น : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทก็จะเสื่อมลงตามวัย โดยอายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 55 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการปวดเข่า เข่าเสื่อม และอายุ 60 ปี จะเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
- เพศ : พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวป้องกันความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า โดยเฉพาะในภาวะหมดประจำเดือนยิ่งทำให้เพศหญิงเกิดข้อเข้าเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ
- กรรมพันธุ์ : จากการศึกษาพบว่า เรื่องของกรรมพันธุ์ก็มีความเกี่ยวข้อง โดยคนไข้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงในลักษณะของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- น้ำหนักตัวที่เกิน : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-5 กิโลกรัม อีกทั้งเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะส่งผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกให้เกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น ประกอบกับหากขาดการออกกำลังกาย หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยเร็วขึ้นได้
- การใช้งานที่มากเกินไป : การใช้ขาและหัวเข่าผิดท่า หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น ในกลุ่มผู้ที่ต้องยืนนานๆ หรือยกของหนัก ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การก้มยกของ รวมถึงท่าทางจากกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น
- ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ : เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
2.ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ (secondaryary knee osteoarthritis) : หรือความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ ซึ่งสามารถแยกย่อยออกเป็นอีกหลายสาเหตุ ดังนี้
- อุบัติเหตุที่เกิดแรงกระแทก : ในผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรืออุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระแทกสูง เช่น ล้มแล้วเข่าบิด มีกระดูกรอบข้อเข่าหัก หรือมีเลือดออกในข้อเข่า สาเหตุเหล่านี้จะส่งผลให้มีอาการปวดหัวเข่า และเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- โรคบางชนิด : เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ ข้อเข่าติดเชื้อ โรคที่เกิดกับอวัยวะนอกข้อเข่า รวมทั้งโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ (inflammatory joint disease)
เมื่อรู้ถึงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว ต่อมาจึงต้องรู้ถึงอาการที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยสามารถสังเกตอาการได้เบื้องต้นดังนี้
- มีอาการปวดข้อเข่า : มีอาการปวดเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่ต้องลงน้ำหนักที่ข้อเข่า เช่น เดินขึ้น-ลงบันได หรือยืนเป็นเวลานาน
- ข้อเข่าฝืด : เมื่อมีการขยับร่างกายที่มีการใช้งานเข่าจะรู้สึกถึงอาการฝืดที่ข้อเข่า หรือเหยียดขาออกได้ไม่สุด โดยเฉพาะในช่วงเช้าหรือหลังจากที่ไม่ได้มีการใช้งานที่เข่าเป็นเวลานาน
- ข้อเข่าบวม : ข้อเข่าอาจมีอาการบวม ซึ่งเกิดจากการอักเสบหรือการสะสมของน้ำในข้อเข่า
- มีเสียงในข้อเข่าเมื่อขยับขา : โดยอาจมีเสียงกระดูกลั่นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า ซึ่งหากมีอาการปวดหัวเข่าร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณของการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนในข้อเข่า
- ข้อเข่ามีลักษณะผิดรูป : ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรง ข้อเข่าอาจมีลักษณะผิดรูปหรือโค้งงอได้ เช่น เมื่อยืนขาชิดกันเข่าทั้งสองจะมีลักษณะผิดรูปข้างใดข้างหนึ่ง
ระยะอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
โดยทั่วไประยะของโรคข้อเข่าเสื่อม จะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 : ทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ
- ระยะที่ 2 : ทำงานหนักไม่ได้
- ระยะที่ 3 : ทำกิจวัตรประจำวันได้
- ระยะที่ 4 : เดินไม่ไหว
จะเห็นได้ว่าอาการปวดข้อเข่าไม่เพียงแต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็น แต่ยังส่งผลให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลงอีกด้วย ซึ่งหากเรายังทำพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำๆ อยู่เช่นเคยอาจนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อมได้ในท้ายที่สุด
ดังนั้น การหมั่นดูแลตัวเองและเช็คสุขภาพข้อเข่าเมื่อรู้ว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจึงสำคัญ เพราะสามารถทำให้เราทราบถึงความแข็งแรงของร่างกาย และหากพบความผิดปกติหรือสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเข้ารับการรักษาก่อนที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม!